ปลวกกินไม้สักหรือไม่?

       ปลวกไม่กินไม้สัก ... เป็นความคิดของหลายๆคน   แต่ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่?

ไม้สัก (Teak) จัดเป็นไม้เนื้อแข็งระดับปานกลาง จึงเหมาะที่จะนำมาตัด-เลื่อย-ไส ทำเฟอร์นิเจอร์ และสร้างบ้านเรือน  ไม้สักมีหลายชนิดที่นิยมก็คือ"ไม้สักทอง" ซึ่งถ้าอยู่ภายในร่มเงาบ้านขัดถูแล้วจะมีความมันเงางาม ส่วน"ไม้สักขี้ควาย"จะสีคล้ำๆไม่สวย ว่ากันว่ามันก็คือไม้สักชนิดเดียวกัน เพียงแต่ขึ้นในสถานที่ๆดินมีแร่ธาตุต่างกันทำให้สีเนื้อไม้ต่างกัน อย่างไม้สักทองพบว่าจะมีแร่ทองคำปะปนอยู่ภายในเนื้อไม้ด้วย จริงๆแล้วก็ไม่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด เพราะแม้ในเกลือสมุทรตามธรรมชาติก็มีแร่ทองคำปะปนอยู่เช่นกัน เพียงแต่มีปริมาณน้อย

       ไม้สักยังมีคุณสมบัติพิเศษที่เล่าลือกันว่า "ปลวกไม่กินไม้สัก" ตามรายงานของนักวิชาการพบว่าในเนื้อไม้สักจะมีสารชื่อ O-cresyl methyl ether (สูตรโมเลกุล C8 H10 O) ซึ่งสารเคมีที่ว่านี้ ปลวก แมลงและเห็ดราไม่ชอบ จึงมีการนำสารเคมีนี้ไปใช้ทาเคลือบเนื้อไม้ชนิดอื่นๆให้มีความคงทน

       แต่สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น (A picture is worth a thousand words.จริงๆสำนวนนี้สอนกันแพร่หลายแบบนี้) ที่ถูกต้องมันควรจะใช้คำว่า ("Seeing is believing") มากกว่า จากประสบการณ์จริงที่บ้านไม้ 2 ชั้นหลังหนึ่ง พบว่าปลวกจะกินไม้ทุกชนิดที่ใช้สร้างบ้านจนหมดทั้งหลัง ตั้งแต่เสา พื้นปาร์เก้ กระดานฝาบ้าน จนถึงหลังคา แต่ตลอดเวลา 40 ปีปลวกไม่กินไม่แตะต้องโต๊ะตู้เตียงที่เป็นไม้สักภายในบ้านหลังนี้เลย

       ในอาณาเขตบ้านหลังที่ว่านี้ ช่วงฤดูฝนได้ทดลองเอาแผ่นไม้สักของแท้ที่เก็บสะสมไว้ ไปวางทับแผ่นไม้ยางที่มีสภาพผุชื้นแฉะและมีปลวกตัวขาวๆจำนวนมากกำลังแทะกินอยู่ เวลาผ่านไปประมาณ 3-4 เดือน ยกแผ่นไม้สักออกมาพลิกหงายดูพบว่าไม้สักมีร่องรอยปลวกแทะกินเป็นรอยตื้นๆยาวคดเคี้ยวมากมาย ผิวหน้าไม้สักที่เปียกชื้นก็มีร่องรอยการถูกปลวกกินที่ผิวหน้าไม้ออกไปบางๆด้วย แต่ไม่กินแบบพรุนเข้าไปภายในอย่างไม้เนื้ออ่อนอื่นๆ แสดงว่าปลวกสามารถแทะกินไม้สักได้ แต่ไม่น่าจะชอบกินไม้สัก จากการทดลองนี้จึงอาจสรุปเป็นสมมุติฐานได้สัก 2 ข้อ คือ

       1) อาจเป็นเพราะไม้สักถูกวางในที่มีความชื้นแฉะ นานหลายเดือน  ทำให้สภาพไม้ง่ายต่อการถูกปลวกกัดแทะ จึงเป็นรอยแทะตื้นๆคดเคี้ยว และกินผิวหน้าไม้สักแต่เพียงบางๆ คงเปรียบได้กับร่างกายคนเราที่เปียกชื้นเป็นเวลานานๆ ผิวหนังจะเสียความต้านทานต่อเชื้อรา จึงเป็นโรคกลาก เกลื้อนได้ง่าย

       2) ไม้สักแผ่นนี้อาจมีอายุเจริญเติบโตไม่นานมากพอ อย่างที่มีผู้รู้กล่าวว่า ไม้สักที่ป้องกันปลวกได้จะต้องมีอายุวงปีเกิน 10 ปีขึ้นไป เพราะเนื้อไม้จะต้องมีการสะสมสารเคมี O-cresyl methyl ether มากเพียงพอ

       สรุปก็คือ คำเล่าลือที่ว่า "ปลวกไม่กินไม้สัก" นั้นไม่เป็นความจริง ปลวกมีความสามารถแทะกินไม้สักได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ปกติแล้วปลวกมันไม่ชอบกินไม้สัก...ก็คุยพอเป็นสาระ ให้ศึกษาวิจัยและถกเถียงกันต่อไป